Ergonomic Kitchen: แต่งครัวอย่างไรไม่ให้ปวดหลัง

เออร์โกโนมิก (Ergonomic) คือหลักการออกแบบสถานที่ทำงานให้มีประสิทธิภาพ และมอบความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้งานมากที่สุด หากเราต้องทำงานในสถานที่ที่ไม่ได้ออกแบบตามหลักเออร์โกโนมิก นอกจากขั้นตอนการทำงานจะไม่ลื่นไหลแล้ว ยังทำให้เราปวดหลัง ไหล่ และคอได้ด้วย

หนึ่งในสถานที่ที่เราต้องใช้งานบ่อยๆ แต่ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญในการออกแบบให้สอดรับกับร่างกายก็คือห้องครัว จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณพ่อบ้านแม่บ้านที่รักการทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจ จะมีอาการปวดเมื่อยไม่ต่างจากผู้มีอาการออฟฟิศซินโดรมเลย

ห้องครัวตามหลักเออร์โกโนมิกนั้นคือห้องครัวที่ออกแบบให้เจ้าของบ้านใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเคลื่อนที่และเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด และไม่ต้องก้มตัว ยืดตัว หรือเอี้ยวตัวบ่อยๆ

รูปทรงของเคาน์เตอร์ครัวคือสิ่งที่กำหนดว่าผู้ใช้งานจะต้องเคลื่อนที่มากน้อยแค่ไหน เคาน์เตอร์ในอุดมคติคือเคาน์เตอร์รูปตัวยูขนาดเล็ก ที่ด้านหนึ่งเป็นพื้นที่เตรียมอาหาร ด้านหนึ่งเป็นเตา และอีกด้านเป็นอ่างล้างจาน ทำให้สามารถยืนปรุงอาหารได้เสร็จสรรพในจุดเดียวโดยไม่ต้องขยับตัวไปไหนเลย แต่ถ้าพื้นที่ในบ้านไม่เหมาะกับเคาน์เตอร์รูปตัวยู เคาน์เตอร์รูปตัวแอลคือทางเลือกที่ดีรองลงมา เพราะช่วยย่นระยะในการเคลื่อนที่ระหว่างจุดต่างๆ ได้มากกว่าเคาน์เตอร์แบบยาวตรง และควรตั้งตู้เย็นไว้ข้างๆ พื้นที่เตรียมอาหารด้วย เพื่อจะได้หยิบวัตถุดิบออกมาจากตู้เย็นแล้วจะได้วางบนเคาน์เตอร์ได้เลย ไม่ต้องถือเดินไปมาให้เมื่อย

ความสูงของเคาน์เตอร์ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เคาน์เตอร์ที่สูงเกินไปทำให้เราเผลอยกไหล่ไว้เวลาทำอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดไหล่ ขณะที่เคาน์เตอร์ที่เตี้ยเกินไปจะทำให้เราต้องโน้มตัวไปข้างหน้า ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดหลังและคอ ถ้าเป็นไปได้ควรสั่งทำเคาน์เตอร์ที่เหมาะกับความสูงของเจ้าของบ้านแทนที่จะเลือกใช้เคาน์เตอร์สำเร็จรูป

 

สำหรับตู้ต่างๆ ในห้องครัวนั้น ตู้แขวนผนังควรติดตั้งในจุดที่เหมาะกับความสูงของเจ้าของบ้าน และควรเป็นตู้แบบบานประตูเปิดขึ้นแทนที่จะเป็นแบบเปิดออกด้านข้าง จะได้ไม่ต้องคอยเบี่ยงตัวหลบบานประตูทุกครั้งที่เปิดตู้ ขณะที่ตู้เก็บของใต้เคาน์เตอร์ควรเลือกใช้แบบลิ้นชัก เพราะสามารถเปิดแล้วหยิบของออกมาได้เลยโดยไม่ต้องย่อตัวลงไป ส่วนตู้เย็นที่ถูกต้องตามหลักเออร์โกโนมิกนั้นคือตู้เย็นที่มีช่องแช่แข็งแบบลิ้นชักอยู่ด้านล่าง ซึ่งช่วยให้เราหยิบอาหารและเครื่องดื่มจากช่องธรรมดา ซึ่งเป็นช่องที่เราใช้งานบ่อยกว่าได้สะดวกกว่าตู้เย็นที่ช่องแช่แข็งอยู่ด้านบน

ทุกวันนี้มีชุดครัวและเครื่องครัวที่ออกแบบอย่างสวยงามให้เลือกมากมาย แต่อย่าลืมว่าห้องครัวนั้นไม่ได้มีไว้โชว์เพียงอย่างเดียว ก่อนซื้อของตกแต่งครัวทุกครั้งจึงควรคำนึงถึงหลักเออร์โกโนมิกเอาไว้สักนิด เพื่อจะได้มีห้องครัวที่ดูดี และใช้งานได้ดีด้วย

ปรับบ้านใหม่ เอาใจผู้สูงอายุ

Photo by ROM architecture studio

พอคนเราอายุมากขึ้น หลายสิ่งที่เคยทำได้ง่ายๆ อาจกลายเป็นเรื่องยุ่งยากและอันตราย หากสังเกตเห็นว่าคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้สูงอายุในบ้านเริ่มใช้ชีวิตประจำวันไม่คล่องตัวเหมือนเมื่อก่อน ถือเป็นสัญญาณเตือนให้เรารู้ว่า ถึงเวลาต้องรีโนเวตบ้านใหม่ตามแนวคิด Universal design เพื่อมอบความสะดวกสบายและปลอดภัยแก่พวกท่าน

Universal design คือการออกแบบสถานที่ ผลิตภัณฑ์ และสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับทุกคน รวมทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยเน้นไปที่การออกแบบที่เรียบง่าย เข้าใจง่าย สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับทุกความต้องการ ใช้งานได้อย่างไม่เหนื่อยแรง และลดโอกาสเกิดอันตรายให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งเราสามารถนำแนวทางของ Universal design มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุได้ด้วย


สิ่งแรกที่ควรให้ความสำคัญคือพื้นบ้าน พื้นบริเวณประตูบ้านทั้งด้านนอกและด้านในต้องเรียบเสมอกัน ไม่มีขั้นบันได ไม่มีธรณีประตู เพื่อให้สะดวกในการผ่านเข้าออก หากตัวบ้านสูงจากพื้นภายนอกมาก ควรทำทางขึ้นเป็นทางลาดแทนบันได ส่วนพื้นในบ้านควรใช้วัสดุปูพื้นที่ไม่ลื่นและไม่มีลวดลายที่ชวนลายตา หากเป็นพื้นพรมควรปูแผ่นรองพรมกันลื่นไว้ด้านล่างด้วย

บันไดก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้ง แต่สามารถป้องกันได้ ด้วยการติดไฟสว่างๆ ให้มองเห็นบันไดทุกขั้นอย่างชัดเจน และเพิ่มราวบันไดให้ครบทั้งสองด้าน เพื่อที่ไม่ว่าผู้สูงอายุจะเซไปทางไหนก็สามารถจับราวบันไดได้เสมอ


สำหรับห้องน้ำ ถ้าบ้านไหนยังใช้โถส้วมแบบนั่งยองอยู่ ควรเปลี่ยนเป็นโถส้วมแบบนั่งราบ และติดราวพยุงตัวที่โถส้วมหรือผนังด้านข้างโถส้วมด้วย ส่วนบริเวณอาบน้ำนั้น แนะนำให้ติดตั้งฝักบัวที่ปรับระดับความสูงได้ เพื่อให้ทุกคนในบ้านใช้งานได้อย่างสะดวก พร้อมทั้งทำที่นั่งให้ผู้สูงอายุสามารถนั่งอาบน้ำได้ ซึ่งจะปลอดภัยกว่าการอาบน้ำในท่ายืน

หลังจากจัดการกับบริเวณที่อาจเกิดอันตรายแล้ว ก็ควรปรับปรุงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้สูงอายุด้วย ตัวอย่างเช่น

  • เปลี่ยนลูกบิดประตูเป็นแบบมือจับ และเปลี่ยนลูกบิดก๊อกน้ำเป็นแบบก้านโยก เพื่อให้ออกแรงในการเปิดปิดน้อยลง
  • ถ้าพื้นที่ในบ้านอำนวย ควรเปลี่ยนประตูและหน้าต่างเป็นแบบบานเลื่อน ซึ่งเปิดปิดได้สะดวกกว่า
  • ทำตู้เสื้อผ้าแบบวอล์ก-อิน โดยติดตั้งราวแขวนให้ต่ำลงกว่าปกติ
  • ติดตั้งสวิตช์ไฟห้องนอนทั้งที่ข้างประตูและข้างหัวเตียง เพื่อที่จะได้เปิดไฟได้ทันทีเมื่อเข้าห้อง และไม่ต้องลุกจากเตียงมาปิดไฟเมื่อถึงเวลานอน

การปรับบ้านตามแนวคิด Universal design ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น คนหนุ่มสาวก็ได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยเช่นเดียวกัน แถมยังถือเป็นการเตรียมความพร้อม ก่อนที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าด้วย